10 อันดับ หนังสือวรรณกรรมรางวัลซีไรต์เล่มไหนที่น่าอ่านที่สุด ตอนที่ 2

10 อันดับ หนังสือวรรณกรรมรางวัลซีไรต์เล่มไหนที่น่าอ่านที่สุด ตอนที่ 2

มาติดตามวรรณกรรมซีไรต์ที่น่าอ่าน ที่นำมาแนะนำในลำดับที่ 1-5 กันต่อในบทความตอนที่ 2 นี้กันต่อเลยค่ะ

ลำดับที่ 5 วรรณกรรมซีไรต์ เรื่อง “ความสุขของกะทิ” ของ งามพรรณ เวชชาชีวะ เรื่องนี้เป็นวรรณกรรมสำหรับเยาวชนเล่มกะทัดรัด ดำเนินเรื่องอย่างเรียบง่ายแต่งดงาม หลายคนอาจจะแปลกใจว่าหนังสือซีไรต์มีวรรณกรรมเยาวชนด้วยหรือ เพราะที่คุ้นเคยจะเป็นเรื่องที่มีเนื้อหาหนักๆกันมากกว่า แต่วรรณกรรมเยาวชนเล่มนี้ก็คว้ารางวัลมาแล้วในปี พ.ศ.2549 ความสุขของกะทิเล่มนี้ ตีพิมพ์ซ้ำมาแล้วร่วม 100ครั้ง โดยเนื้อหาว่าด้วยเรื่องราวของเด็กหญิงวัย 9 ขวบคนหนึ่งในสังคมชนบทที่แสนจะสงบสุขห้อมล้อมด้วยคุณตาคุณยายที่รัก แต่ใจในของเด็กหญิงกลับโหยหาแม่ที่รักยิ่งของเธอ เรื่องราวดำเนินอย่างเรียบง่าย ค่อยๆคลายปมพาผู้อ่านไปสู่คำตอบที่ว่าความสุขคืออะไร ในตอนท้าย เล่มนี้เหมาะกับการอ่านในช่วงเวลาสั้นๆ

อันดับที่ 4 วรรณกรรมซีไรต์เรื่อง  “ อสรพิษและเรื่องอื่นๆ” ของ แดนอรัญ แสงทอง วรรณกรรมเรื่องนี้เป็นผลงานของนักเขียนชั้นครู ที่ชวนลุ้นระทึกตลอดเรื่อง อสรพิษและเรื่องอื่นๆ เป็นหนังสือที่รวมรวมเรื่องสั้นทั้ง 12 เรื่องเข้าไว้ด้วยกัน มีเรื่องเอกคือ อสรพิษ ที่เล่าถึงเด็กชายในสังคมต่างจังหวัดที่มีความเชื่อในสิ่งลี้ลับอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะในเรื่องของงู แต่ถึงแม้เป็นเรื่องราวของเด็ก แต่ในบรรยากาศของเรื่องนี้จะแตกต่างจากเรื่องอื่นๆที่มีเด็กเป็นตัวเอกอย่างสิ้นเชิง ซึ่งอสรพิษจะเร้าอารมณ์ให้ผู้อ่านได้ติดตามแล้วค่อยๆไต่ระดับความเข้มข้นจนไปถึงจุดสิ้นสุดของเรื่อง เปรียบเสมือนได้ดูหนังดีๆสักเรื่องเลยล่ะค่ะ ส่วนเด็กชายจะเอาตัวรอดอย่างไรจากความเชื่อและสิ่งลี้ลับต้องไปติดตามอ่านในเล่มให้ได้

อันดับที่ 3 วรรณกรรมซีไรต์เรื่อง “ นครคนนอก” ของ พลัง เพียงพิรุฬห์ วรรณกรรมเล่มนี้เป็นบทกวีเสียดสีชีวิตของคนนอกสังคม ด้วยถ้อยคำอันทรงพลัง สำหรับสายกวีนิพนธ์ เราขอแนะนำ นครคนนอก เป็นอันดับต้นๆ เนื่องจากเป็นงานกวีนิพนธ์ชั้นเยี่ยม ภายในเล่มได้หยิบยกเรื่องราวจากคนชายขอบของสังคมมาฉายเสมือนภาพให้เราดู สำหรับคนที่กลัวว่ากวีนิพนธ์จะอ่านยาก ขอบอกเลยว่า ภาษาในเล่มนี้อ่านง่าย นักเขียนสื่อความหมายอย่างตรงไปตรงมาด้วยถ้อยคำที่สั้น และตีความหมายพอประมาณ เหมาะกับการอ่านในวันที่ชีวิตกำลังเร่งร้อน หรือเย็นวันศุกร์ที่รถติดเป็นอย่างยิ่ง

อันดับที่ 2 วรรณกรรมซีไรต์เรื่อง “ระหว่างทางกลับบ้าน” ของ อังคาร จันทาทิพย์  เป็นเรื่องของกวีนิพนธ์ที่เล่าถึงบ้านของผู้คนที่อยู่บนโลกหลากมิติ ซึ่งสายกวีนิพนธ์จะพลาดผลงานของคุณอังคารไปไม่ได้ เราจุงอยากแนะนำวรรณกรรมกวีนิพนธ์เรื่อง “ระหว่างทางกลับบ้าน” ให้ได้ไปอ่านกัน

เนื้อหาในเล่มนี้จะกล่าวถึงบ้านและความรู้สึกโหยหาอยากกลับบ้านของผู้คนทั่วทุกมุมโลก ซึ่งบ้านในที่นี้หมายถึง สังคม ประเทศ รวมไปถึงความตาย ดั่งที่ตัวนักเขียนได้ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า แค่คอนเซ็ปต์ก็น่าสนใจแล้ว แต่จะน่าสนใจแค่ไหน ในระหว่างการเดินทางกลับบ้านครั้งหน้าลองหยิบหนังสือเล่มนี้มาอ่านดูนะคะ

อันดับที่ 1 วรรณกรรมซีไรต์เรื่อง “ คำพิพากษา” ของชาติ กอบจิตติ ในเรื่องนี้เป็นผลงานอมตะที่เล่าถึงโศกนาฏกรรมของมนุษย์โดยมนุษย์ด้วยกัน วรรณกรรมเรื่องนี้เป็นผลงานของนักเขียนรางวัลซีไรต์ชื่อดัง ที่ได้รับการตีพิมพ์ซ้ำกว่า 50 ครั้ง แปลเป็นภาษาต่างประเทศอีก 6 ภาษา และได้รับการดัดแปลงเป็นภาพยนตร์เรื่อง “ ฟัก” ในปี พ.ศ.2547 อีกด้วย 

เนื้อหาของเรื่องเล่าถึงชีวิตของฟักผ่านการที่ถูกสังคมพิพากษาจนกลายเป็นโศกนาฏกรรมอันน่าหดหู่ ชวนให้ผู้อ่านย้อนคิดถึงสังคมของเราที่ตัดสินคนกันง่ายได้จากความไม่รู้จริง และเมื่อจะพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ 38 ปีที่แล้วแต่นวนิยายเรื่องนี้ยังคงสอดคล้องกับสังคมในปัจจุบัน เนื่องคำพิพากษา จึงเป็นผลงานอมตะที่ไม่ควรพลาดอย่างยิ่ง

เลือกอ่านตามความชอบที่ตรงกับจริตในการอ่านของคุณได้เลยนะคะ เพราะแต่ละเล่นการันตีคุณภาพด้วยรางวัล วรรณกรรมซีไรต์อยู่แล้ว ถ้าไม่อ่านเสียดายแย่เลยค่ะ

#หนังสือวรรณกรรม #รีวิวหนังสือน่าอ่าน #หนังสือนิยาย